3 กองทุน SSF ที่น่าสนใจ 2022

Table of Contents
3 กองทุน SSF ที่น่าสนใจ 2022

กองทุนรวม เป็นการลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนนิยมใช้ลงทุนในระยะยาว เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำ และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่กว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งกองทุนรวมมีอยู่หลายประเภท และประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกองทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษี ได้แก่ RMF และ SSF ทราบหรือไม่ว่า 2 กองทุนนี้ถึงจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกัน สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงกองทุน SSF ที่สามารถลดหย่อนภาษี โดยไม่ต้องถือยาวถึงเกษียณ

กองทุน SSF คืออะไร?

กองทุน SSF คืออะไร?

Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวที่มีสิทธิประโยชน์ คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ อีกทั้ง ยังไม่ต้องซื้อต่อเนื่องด้วยครับ ทำให้การลงทุนในกองทุนนี้เป็นเหมือนการลงทุนระยะยาว แต่ได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากประจำในธนาคารเช่นเดียวกับ RMF

และที่สำคัญ คือ กองทุนนี้สามารถลงทุนได้หลายสินทรัพย์เช่นกัน ทั้งพันธบัตรรัฐบาล, ตลาดเงิน, ตราสารหนี้เอกชน, ทองคำ, หุ้น หรือแม้แต่หุ้นต่างประเทศ แต่เงื่อนไขที่สำคัญ คือ หากต้องการขายคืนกองทุน จะต้องถือครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน

กองทุน SSF ต่างจากกองทุน RMF อย่างไร?

ถึงแม้จะฟังดูเหมือนมีรายละเอียดที่เหมือนกัน แต่กองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ ก็ยังมีความแตกต่างกัน โดยความแตกต่างระหว่างกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ คือ

SSF

เงื่อนไขการหักภาษี

กองทุนทั้ง 2 ประเภท เป็นแบบหักปีต่อปี แต่ SSF จะเริ่มหักตั้งแต่ปี 2563-2567 เท่านั้น ส่วนจำนวนเงินที่สามารถลดหย่อนได้นั้น SSF จะลด 200,000 บาท ขณะที่ RMF สามารถลดหย่อนได้ถึง 500,000 บาท แต่ทั้ง 2 กองนี้ เมื่อนับรวมกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทครับ

เงื่อนไขการซื้อ

SSF และ RMF ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ RMF มีการกำหนดเงื่อนไข คือ ต้องซื้อแบบต่อเนื่อง อย่างน้อยปีเว้นปี ขณะที่ SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง

เงื่อนไขการขาย

SSF สามารถขายได้เมื่อถือครบ 10 ปี แต่ RMF ขายได้เมื่อลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่องกัน และผู้ถือมีอายุครบ 55 ปี

นโยบายการจ่ายปันผล

SSF มีนโยบายทั้งแบบปันผลและไม่ปันผล ขณะที่ RMF มีแต่แบบไม่ปันผล

ใครที่ควรซื้อ SSF?

  • คนที่มีฐานภาษีสูง หรือมีรายได้-ค่าลดหย่อนภาษีแล้ว มากกว่า 150,000 บาท
  • คนที่อยากลดหย่อนภาษี และลงทุนไปพร้อม ๆ กัน
  • คนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว วางแผนเพื่อการเกษียณ
  • คนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปในหลาย ๆ สินทรัพย์
  • คนที่ไม่อยากถือกองทุนที่ต้องใช้เวลานานมากจนเกินไปแบบ RMF

จะเลือก SSF ตัวไหนดี?

ดูวัตถุประสงค์ของกองทุน

พิจารณาว่ากองทุนนั้นลงทุนในสินทรัพย์ใด และมีความเสี่ยงระดับใด ซึ่งควรเลือกความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้

นโยบายการบริหารกองทุนที่เหมาะสม

ซึ่งมีทั้งแบบ Active และ Passive ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

นโยบายการจ่ายปันผล

สามารถเลือกได้ตามที่นักลงทุนต้องการ ถ้าอยากได้เงินปันผลก็ต้องเลือกกองทุนที่มีการจ่ายปันผล เป็นต้น อย่างไรก็ดี กองที่มีการจ่ายปันผลจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 10% ครับ ดังนั้นอาจจะต้องมีการคำนวณถึงความคุ้มค่าในจุดนี้ด้วย แต่ก็อย่าลืมว่า เงินที่ลงทุนในกองนี้จะอยู่ในพอร์ตไปถึง 10 ปี ซึ่งต้องมั่นใจว่า เงินที่ลงทุนเป็นเงินเย็นด้วยเช่นกัน

เกณฑ์ในการเลือกกองทุนประเภทนี้ไม่แตกต่างจากกองทุนทั่วไปเลย ซึ่งนักลงทุต้องดูภาพรวมทั้งหมดของกองทุน แต่มีข้อที่ต้องพิจารณาให้มากหน่อยก็คือ การจ่ายปันผล

กองทุน SSF ผลตอบแทนดีที่น่าสนใจ 2022

SSF

1. M-MIDSMALL-SSF

M-MIDSMALL-SSF
M-MIDSMALL-SSF

ข้อมูลจาก Finnomena

รายละเอียดกองทุน: กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป ชนิดเพื่อการออม (M-MIDSMALL-SSF) เป็นกองทุนแบบ Active Fund ที่ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ที่จดทะเบียนใน SET และ MAI

ความเสี่ยง: ระดับ 6

ลงทุนขั้นต่ำ: 1,000 บาท

นโยบายการจ่ายปันผล: มีปันผล

2. KKP ACT EQ-SSF

KKP ACT EQ-SSF
KKP ACT EQ-SSF

ข้อมูลจาก Finnomena

รายละเอียดกองทุน: กองทุนเปิดเคเคพี แอ็กทิฟ อิควิตี้ (KKP ACT EQ-SSF) เป็นกองทุนแบบ Active Fund ที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตสูง 

ความเสี่ยง: ระดับ 6

ลงทุนขั้นต่ำ: 1,000 บาท

นโยบายการจ่ายปันผล: ไม่มีปันผล

3. LHSTRATEGY-ASSF

LHSTRATEGY-ASSF
LHSTRATEGY-ASSF

ข้อมูลจาก Finnomena

รายละเอียดกองทุน: กองทุนเปิด แอล เอช สแทรทิจี อิควิตี้ ชนิดเพื่อการออมและสะสมมูลค่า (LHSTRATEGY-ASSF) เป็นกองทุนแบบ Active Fund ที่ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่จดทะเบียนใน SET และ MAI

ความเสี่ยง: ระดับ 6

ลงทุนขั้นต่ำ: 0 บาท

นโยบายการจ่ายปันผล: ไม่มีปันผล

ทั้งหมดนี้ คือ กองทุนรวมชนิด SSF ซึ่งมีการดำเนินงานและผลตอบแทนดีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากสนใจกองทุนเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปอ่านหนังสือชี้ชวน หรือศึกษารายละเอียดของกองทุนเพิ่มเติมได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น กองทุนเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาและหากองทุนอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเองได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี อย่าลืมดูวัตถุประสงค์ของกองทุน, นโยบายการบริหาร ตลอดจนนโยบายการจ่ายปันผลนะครับ นอกจากนี้ อย่าลืมติดตามพอร์ตหลังจากลงทุนไปแล้ว


Source: ทีมงาน Traderbobo
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: าระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker

Social Share
Facebook
Twitter