หลายคนคงอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของเจ้า “Starlink” หรืออินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ อีลอน มัสก์ ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว ซึ่งมันคือ อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงที่เข้าไปช่วยเหลือด้านการติดต่อสื่อสารของ ยูเครน อยู่ในขณะนี้ โดยจุดประสงค์ของการสร้างเครือข่ายนี้ขึ้นมา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับภูมิภาคหรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์อีกด้วย หากใครยังไม่เข้าใจว่า อินเทอร์เน็ตดาวเทียมใช้งานอย่างไร เราจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น การที่เราสามารถเล่นไวไฟบนเครื่องบินหรือบนเรือกลางมหาสมุทรที่ไม่มีสายไฟเชื่อมต่อได้ นั่นแหละครับเขาเรียกว่า อินเทอร์เน็ตดาวเทียม ซึ่งแตกต่างจากอินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เราจำเป็นต้องต่อสายไฟ หรือเดินสายต่าง ๆ เพื่อให้เราใช้งานได้ แต่ความสะดวกสบายก็ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง สำหรับบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับ Starlink ให้เข้าใจกันมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า Starlink คุ้มค่าหรือไม่ หากเราต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตที่แพงขึ้น ?
ทำความรู้จัก Starlink อินเทอร์เน็ตของ อีลอน มัสก์
Starlink เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 โดยบริษัท SpaceX เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งอินเทอร์เน็ตดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ถูกพัฒนามานานแล้ว ต้องเกริ่นถึงการทำงานของอินเทอร์เน็ตดาวเทียมก่อนว่า เป็นการส่งดาวเทียมขึ้นไป และให้ดาวเทียมส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตลงมา ซึ่งข้อได้เปรียบของ Starlink คือ เป็นอินเทอร์ดาวเทียมที่มีวงโคจรต่ำมาก โดยปกติแล้วดาวเทียมทั่วไปจะมีวงโคจรที่ 40,000 กม. แต่ Starlink มีวงโคจรอยู่ที่ 550 กม. เท่านั้น ทำให้การส่งข้อมูลหรือสัญญาณขึ้นไปและลงมายังโลกทำได้เร็วขึ้น แต่ใช่ว่าดาวเทียมที่มีวงโคจรต่ำจะดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากการวงโคจรต่ำมากเท่าไร จะยิ่งลดความครอบคลุมของพื้นที่มากเท่านั้น ดังนั้น Starlink จึงจำเป็นต้องใช้ดาวเทียมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หากต้องการใช้ทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
ปัจจุบัน Starlink มีเครือข่ายดาวเทียมมากกว่า 3,000 ดวงทั่วโลก และบริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยดาวเทียมเพิ่มอีกให้ครบ 4,500 ดวง ภายในปี 2024 โดยเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ 42,000 ดวง ซึ่งอีลอน มัสก์ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักดาราศาสตร์ว่า Starlink นั้นบดบังการสังเกตการณ์ท้องฟ้า และพวกเขาทำงานได้ยากขึ้น จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทางบริษัทต้องคิดวิธีการแก้ไข มิเช่นนั้นอาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้
Starlink มีความเร็วเทียบเท่ากับ Fiber Optic บ้านเรา
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีการเชื่อมต่ออยู่หลายรูป และ Fiber Optic คือ การเชื่อมต่อที่มีความเร็วและเสถียรมากที่สุดในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตแบบสายทองแดง แต่ปัจจุบัน Fiber Optic เป็นการส่งสัญญาณผ่านเส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งอินเทอร์เน็ตดาวเทียมก็ใช้ความเร็วของแสงมาเป็นการส่งสัญญาณเช่นกัน โดยอินเทอร์เน็ตทั้ง 2 แบบนี้ จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยทางเราได้ทำตารางเปรียบเทียบความแตกต่างไว้ ดังนี้
Internet | ความเร็ว | ราคา | ครอบคลุมทุกพื้นที่ | ข้อจำกัด |
Starlink | 50-250 Mbps | $99/เดือน หรือประมาณ 3,500 บาท | ✅ | เนื่องจากเป็นดาวเทียมอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น แสงอาทิตย์ สภาพอากาศ |
Starlink Premium (แพ็คเกจเสริม) | 150-500 Mbps | $500/เดือน หรือประมาณ 17,500 บาท | ✅ | อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น แสงอาทิตย์ สภาพอากาศ |
Fiber Optic | 130 Mbps | (ขึ้นอยู่ผู้ให้บริการ) เฉลี่ยในไทยต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือน | ❌ | เนื่องจากสาย Fiber Optic ถูกฝังไว้ใต้ดิน อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อย |
นอกจากนั้น การที่จะสามารถใช้ Starlink ได้ ต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Starlink Kit” เพื่อรับส่งข้อมูลทางดาวเทียม โดยมีค่าบริการอยู่ที่ $100-$500 ขึ้นอยู่กับแพ็คเกจที่เลือก
Starlink ใช้ในไทยได้หรือยัง ?
Starlink ให้บริการในพื้นที่ห่างไกลกว่า 36 ประเทศทั่วโลก สำหรับในเอเชียจะเริ่มใช้ที่แรก คือ ญี่ปุ่น เนื่องจากมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเกาะ ทำให้การต่อสายอินเทอร์เน็ตไปได้ไม่ทั่วถึง โดยค่าบริการรายเดือนในญี่ปุ่นอยู่ที่ 12,300 เยน หรือประมาณ 3,200 บาท ซึ่งผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าอุปกณ์เพิ่มเติม
สำหรับประเทศไทย พบว่า ในเว็บไซต์ Starlink.com ไทยอยู่ในกลุ่ม Coming Soon ซึ่งหมายถึงรออนุมัติตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีประเทศปากีสถาน อินเดีย เนปาล และศรีลังกา โดยคาดการณ์ว่า คนไทยอาจได้ใช้ Starlink เร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับ Tesla ที่มาเปิดให้บริการในไทยแล้วเช่นกัน
Starlink คุ้มค่ากับคนไทยหรือไม่ ?
ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ซึ่งยังไม่รวมถึงเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ค่อนข้างมีคุณภาพ โดยมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 188.31 Mbps สำหรับเน็ตบ้าน และ 33.68 Mbps สำหรับเน็ตโทรศัพท์
จะเห็นว่า อินเทอร์เน็ตของไทยในพื้นที่ที่ใช้บริการ Fiber Optic มีความเร็วเทียบเท่ากับของ Starlink แต่จากตารางก่อนหน้านี้ที่เราได้ทำการเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายของ Starlink นั้นถือว่า ค่อนข้างสูงกว่ามาก และยังมีค่าอุปกรณ์ที่เราต้องจ่ายเพิ่มอีก ทำให้มองว่า ณ ตอนนี้ Starlink ยังไม่คุ้มค่าสำหรับคนไทยมากนัก นอกจากนี้ โดยเฉลี่ยรายได้ของคนไทยยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ การที่ต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตถึงหลายพันบาทต่อเดือนนั้นถือเป็นภาระที่สูง หาก Starlink ต้องการจะตีตลาดในไทยจริง คงเกาะกลุ่มลูกค้าได้แค่บางกลุ่มเท่านั้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถของ Starlink ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลอินเทอร์เน็ตได้จริง เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ในไทย ที่ยังไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตที่เข้าไม่ถึง จากข้อจำกัดในการเดินสาย และการวางโครงข่ายที่ยังล่าช้า หาก Starlink เข้ามาเปิดให้บริการในไทยอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงข้อมูลในประเทศได้ เช่น ด้านการศึกษา ด้านการเงิน และการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม Starlink ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ในระยะยาว แต่สำหรับในไทยคงต้องย้อนกลับไปถามว่า แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับอินเทอร์เน็ตดาวเทียมนี้ในพื้นที่ห่างไกล และรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือได้มากขนาดนั้นหรือไม่ เราคงต้องรอดูต่อไปในอนาคต
Source: ทีมงาน Traderbobo
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: Traderbobo
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker