ภาพรวมตลาดการลงทุนในปีนี้ ถือเป็นปีที่มีความผันผวนสูงมาก เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการทางการเงิน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ QT และ QE ครับ
สืบเนื่องมาจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องทำการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าตลาดคริปโตก็ได้รับอนิสงค์ผลบุญนี้ไปด้วย โดยกระบวนการอัดฉีดเงินที่ว่านี้เรียกว่า QE หรือ Quantitative Easing ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่พอถึงจุดอิ่มตัว และสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เงินมันก็ต้องหาทางระบายออกครับ เนื่องจากถ้ามีเงินในระบบที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการ QT หรือ Quantitative Tightening เข้ามาช่วย ส่งผลให้ตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตร่วงระนาวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเลยครับ พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ กันแล้วใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความรู้จักกับมาตรการทั้งสองตัวพร้อมกันเลยครับ
QE คืออะไร ?
QE (Quantitative Easing) เป็นนโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางใช้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินใหม่ แล้วนำไปซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดดอกเบี้ยลง และเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมากู้ยืมเพื่อการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะนำเงินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ให้ครัวเรือนต่อ การทำเช่นนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้มาตรการ QE เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แต่ตามความเป็นจริงแล้วเงินส่วนใหญ่ที่นำเข้าไปในระบบกลับถูกเอามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมากกว่าการปล่อยกู้ เราจึงเห็นตลาดหุ้นคึกคักมากในช่วงที่ทำ QE และก็ส่งผลไปยังตลาดการลงทุนอื่น ๆ ด้วย เช่น คริปโตและตราสารหนี้
QT คืออะไร ?
QT (Quantitative Tightening) เป็นนโยบายทางการเงินที่ตรงข้ามกับ QE โดยธนาคารกลางจะขายสินทรัพย์ที่เคยซื้อออกไป หรือหาตราสารหนี้ก็จะปล่อยให้หมดอายุ เพื่อรับเงินต้นคืนจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเงินที่ได้รับคืนนี้ธนาคารกลางไม่ได้เอาไปทำอะไรต่อหรอกครับ แต่จะลบออกจากบัญชีให้มันหายไปเฉย ๆ เหมือนตอนที่พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ การกระทำเช่นนี้เป็นเหมือนการนำเงินออกจากระบบ ซึ่งจะลดสภาพคล่องทางการเงิน และลดขนาดของงบดุล เมื่อสภาพคล่องลดลงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จากนั้นเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง ส่วนใหญ่แล้วการใช้มาตรการ QT จะใช้ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ
ประวัติการใช้นโยบาย QT
แท้จริงแล้วมีการประกาศใช้นโยบาย QE อย่างเป็นทางการเมื่อ 20 ปีก่อนเท่านั้น ทำให้การประกาศใช้ QT เกิดขึ้นน้อยครั้ง โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเคยใช้เมื่อปี 2006-2007 เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่ใช้ระหว่างปี 2013-2014 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังเพิ่มสภาพคล่องสู้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ก็เริ่มลดสภาพคล่องด้วยนโยบาย QT ระหว่างปี 2018-2019 แต่ความยิ่งใหญ่ของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเงินไปทั่วโลก
โดยตลอดปี 2018 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ดึงสภาพคล่องออกไปถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่สภาพคล่องลดลง และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะถือครองเงินสดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกิดการดึงเงินออกจากสกุลเงินอื่น ๆ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงจนในที่สุดจึงตัดสินใจยกเลิกนโยบาย QT เมื่อเดือน มี.ค. 2019
QT และความผันผวนในตลาดคริปโต
ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐมีการประกาศใช้ QT อีกครั้ง หลังเกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักทั่วโลก โดยเริ่มทำเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกเกิดความผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะตลาดคริปโต หากใครที่อยู่ในตลาดนี้อยู่แล้วจะจำได้เลยครับว่า ช่วงที่มีประกาศออกมา สินทรัพย์แทบจะดิ่งลงเหวทุกตัว ซึ่งแน่นอนครัวว่า การทำ QT ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นักลงทุนจึงเลือกถือเงินสดมากกว่า อีกทั้ง ปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเป็นปัจจัยหลักทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มขาลงของตลาดคริปโต ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มีใครรู้ว่ามันจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่เรายังต้องเผชิญกับมันไปอีกนานครับ โดยธนาคารกลางสหรัฐก็ออกมาประกาศแล้วว่า “ยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้”
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดคริปโตนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเผชิญอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์เสี่ยง และมีความอ่อนไหวต่อข่าวค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง แต่ที่สำคัญต้องศึกษา และเท่าทันเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้วางแผนการลงทุนของเราให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดครับ
Source: ทีมงาน Traderbobo
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker