ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกในวันจันทร์ (24 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรในช่วงท้ายตลาด นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภค หลังจากดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) รวมทั้งความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน
Dow Jones +0.29%
S&P500 +0.28%
Nasdaq +0.63%
การทรุดตัวของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจจะยุติลงแล้ว เมื่อพิจารณาจากสัญญาณบ่งชี้ทางเทคนิคที่ระบุว่าตลาดได้เข้าสู่เขต “Oversold” และบรรยากาศการซื้อขายสู่ภาวะหมี (Bear Market) ซึ่งหมายความว่าเราอาจจะอยู่ในช่วงท้ายของการปรับฐาน (Correction)
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงอย่างหนักในวันจันทร์ (24 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออก ด้วยความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เเละความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสรัฐฯ
Stoxx Europe 600 -3.81%
CAC-40 -3.97%
DAX -3.80%
FTSE 100 -2.63%
โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มเดินทางนำตลาดร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงตาม แต่หุ้นยูนิลีเวอร์ พุ่งขึ้น 7.3% สวนทางตลาดโดยรวมหลังมีรายงานว่านายเนลสัน เพลตซ์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวและนักลงทุนได้เข้าสะสมหุ้นยูนิลีเวอร์การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในยูโรโซนกดดันตลาดด้วย โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-บริการของยูโรโซน ร่วงลงสู่ระดับ 52.4 ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จาก 53.3 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564 และต่ำกว่าคาดการณ์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระดับ 52.6
นักลงทุนจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานว่าสหรัฐและอังกฤษได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทูตรวมทั้งครอบครัวเร่งอพยพออกจากยูเครน ขณะที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศเสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการประชุม FED ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 26 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือในช่วงเช้าตรู่วันของพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.ตามเวลาไทย ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ค. หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิตรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.8 ในเดือ นม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากระดับ 57.0 ในเดือน ธ.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัว แต่ก็ใกล้หลุดระดับ 50 ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะหดตัว