Market Watch จับตาดูโลก ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2565

Table of Contents

▪ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดในวันพุธ (9 มี.ค.) ขานรับรายงานที่ว่าการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความคืบหน้า ซึ่งอาจจะปูทางให้สงครามในยูเครนยุติลง โดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นนำตลาด ขณะที่การร่วงลงของราคาน้ำมันช่วยหนุนหุ้นธุรกิจการเดินทาง

Dow Jones  +2.00%

S&P500 +2.57%

Nasdaq +3.59%

นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนและกลับเข้าซื้อหุ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังที่ว่าสงครามในยูเครนใกล้ยุติลง หลังจากมีข่าวว่ายูเครนได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

รัสเซียต้องการเจรจาสันติภาพรอบใหม่กับยูเครนทันทีที่คณะผู้แทนของยูเครนมีความพร้อม ซึ่งการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียและยูเครนในวันนี้ (10 มี.ค.) ที่ตุรกี ถือว่ามีความสำคัญในกระบวนการหารือเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ในยูเครน

ส่งผลให้หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 3.98% โดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส พุ่งขึ้น 4.31% หุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 4.97% ห้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 3.5% หุ้นไมโครซอฟท์ ดีดขึ้น 4.59%

อีกทั้งราคาน้ำมัน WTI ร่วงลงกว่า 12% เมื่อคืนนี้ และเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มเรือสำราญ โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 4.93% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 5.85% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป พุ่งขึ้น 8.68% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส บวก 5.4%

▪ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดพุ่งขึ้นกว่า 4% ในวันพุธ (9 มี.ค.) นำโดยตลาดหุ้นเยอรมนีที่ทะยานขึ้นเกือบ 8% หลังจากนักลงทุนพากันเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้จากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตยูเครน

Stoxx Europe 600 +4.68%

CAC-40 +7.13%

DAX +7.92%

FTSE 100 +3.25%

ตลาดหุ้นอิตาลีและฝรั่งเศสพุ่งขึ้นราว 7% ซึ่งหนุนดัชนี STOXX 600 ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากที่ดิ่งลงติดต่อกัน 4 วันราว 7% โดยได้รับผลกระทบจากการห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคาร, กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และกลุ่มสันทนาการ ทะยานขึ้นมากกว่า 7% โดยข่าวที่ว่ารัสเซียและยูเครนแสดงความเต็มใจที่จะเจรจากันได้ช่วยหนุนความเชื่อมั่น และหนุนตลาดหุ้นฟื้นตัวทั่วโลก

หุ้นกลุ่มธนาคารของยูโรโซนทะยานขึ้นเกือบ 10% แต่ยังคงลดลง 13% ในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตยูเครน

นอกจากนั้น ECB จะประชุมกันในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB มีแนวโน้มที่จะพิสูจน์ว่า ECB สามารถควบคุมเงินเฟ้อในยูโรโซนได้ โดยเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมากกว่าคาด 5.8% แล้วซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี

▪ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ในปีนี้

Social Share
Facebook
Twitter