สืบเนื่องมาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนเเรงอยู่ในขณะนี้ โดยรัสเซียได้บุกยูเครนจนทำให้ยูเครนต้องหาเงินทุนสำรองในการสนับสนุนทหาร ทางด้านของยูเครนจึงมีการระดมเงินทุนจากนานาชาติเพื่อช่วยเหลือเเละยืนหยัดให้ประเทศไปต่อได้ท่ามกลางการรุกรานของรัสเซีย เเละหนึ่งในนั้น คือ การออกพันธบัตรรัฐบาล ล่าสุดยูเครนสามารถระดมทุนจากพันธบัตรได้ถึง $277 ล้าน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งพันธบัตรนี้เรียกได้ว่าเป็น War Bonds (พันธบัตรสำหรับสงครามโดยเฉพาะ) เลยก็ว่าได้
War Bonds คืออะไร ?
War Bonds คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่งซึ่งออกโดยรัฐบาล เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนปฏิบัติการทางการทหาร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงคราม โดยมีคุณสมบัติเหมือนตราสารหนี้ที่ออกโดยเอกชนทุกประการ สามารถซื้อขายโดยตรงหรือผ่านตลาดหุ้น
ความน่าสนใจของ War Bonds
สิ่งที่น่าดึงดูดของพันธบัตรนี้ คือ อัตราผลตอบแทนสูงถึง 11% โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 มี.ค.) ทางยูเครนได้จ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรมูลค่าราว $300 ล้าน ให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาของรัฐบาลยูเครน นอกจากการออกพันธบัตรแล้ว รัฐบาลกำลังพิจารณาเพื่อหาช่องทางการระดมทุนอื่น ๆ เช่น การออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ ตลอดจนการเร่งเดินหน้าเจรจาขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)
การตัดสินใจกระทำในครั้งนี้ของยูเครนถือว่า ”ประสบผลสำเร็จมาก” มีนักลงทุนมากมายที่ติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของกองทุนว่า สามารถให้การสนับสนุนทางยูเครนได้ทางใดบ้าง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยูเครนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นในรูปสกุลเงินท้องถิ่น หรือสกุลเงินต่างชาติอย่างดอลลาร์และยูโร อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางธนาคารกลางยูเครนเพิ่งจะก่อตั้งบัญชีพิเศษเพื่อเปิดรับเงินบริจาคจากผู้คนทั่วโลก รวมถึงการแบ่งปันที่ที่อยู่ของวอลเล็ตหรือกระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อระดมทุนผ่านคริปโตฯ นำโดย Bitcoin
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการชำระหนี้ยังขาดความชัดเจน และการไม่มีรายละเอียดของข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้บรรดาผู้จัดการกองทุนต่างชาติบางส่วนเลือกที่จะยังคงไม่เคลื่อนไหว โดยให้เหตุผลว่า War Bonds เเม้ราคาไม่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากเกินจะลงทุน แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า War Bonds ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากหลายบริษัทมีสัดส่วนหนี้ในระดับต่ำ และหลายธุรกิจสามารถยืนหยัดอยู่รอดจากวิกฤตโควิด โดยไม่ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่
Source: Bloomberg
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker