ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งขึ้นเกือบ 600 จุดในวันอังคาร (15 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำกว่าคาด
Dow Jones +1.82%
S&P500 +2.14%
Nasdaq +2.14%
นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.9% หลังจากที่พุ่งขึ้น 1.2% ในเดือน ม.ค. เเละการร่วงลงของราคาน้ำมันยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ต่างก็ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 3.43% โดยหุ้นเน็ตฟลิกซ์ พุ่งขึ้น 3.85% หุ้นหุ้นไมโครซอฟท์ พุ่งขึ้น 3.87% หุ้นอัลฟาเบท พุ่งขึ้น 2.58% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส พุ่งขึ้น 2.59%
หุ้นกลุ่มสายการบินและเรือสำราญพุ่งขึ้นหลังจากราคาน้ำมันร่วงลง โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ ทะยานขึ้น 8.68% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 9.26% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 96.19% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป พุ่งขึ้น 5.37% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส ดีดขึ้น 3.79% เเต่การร่วงลงของราคาน้ำมันได้ฉุดดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลง 3.72% โดยหุ้นเชฟรอน ร่วงลง 5.06% หุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ดิ่งลง 4.29% หุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ลดลง 1.55% หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 5.69%
นอกจากนี้ ตลาดยังปรับตัวลงหลังจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 59.7 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 62.8 ในเดือน ก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอาจอยู่ที่ระดับ 61.4 ในเดือน มี.ค.
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบในวันอังคาร (15 มี.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหลังบวก 2 วันติดต่อกัน จากความหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์นำตลาดร่วงลงท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในจีน นอกจากนี้นักลงทุนยังชะลอการเข้าซื้อหุ้นก่อนเสร็จสิ้นการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมา
Stoxx Europe 600 -0.28%
CAC-40 -0.23%
DAX -0.09%
FTSE 100 -0.25%
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ร่วงลง 2.1% และหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ลดลง 0.1% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดิ่งลงมากกว่า 7% และราคาโลหะอุตสาหกรรมลดลงจากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ลดลงจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้รายสำคัญ หลังจากยอดติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้น
หุ้นที่เกี่ยวกับวัสดุพื้นฐาน, เหมืองแร่และโลหะ, การก่อสร้างที่อยู่อาศัย และหุ้นสินค้าหรูหรา ปรับตัวลงหลังจากจีนออกมามาตรการล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วน อีกทั้งหุ้นโพรซัสของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบริษัทเทนเซ็นต์ของจีน ร่วงลง 6.6% ท่ามกลางความอ่อนแอของหุ้นเทคโนโลยีของจีน
นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังปรับตัวลงหลังศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีดิ่งลงสู่ระดับ -39.3 ในเดือน มี.ค. จากระดับ +54.3 ในเดือน ก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +10.0 อีกทั้งตลาดถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ และคาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้ด้วย
นักลงทุนยังรอดูผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐฯ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มี.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.พ., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. และยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ.