แนวโน้มของเงินบาทอ่อนค่า จะเป็นอย่างไรต่อไป ?
สืบเนื่องมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินจากข่าวเศรษฐกิจต่าง ๆ ว่า เงินบาทอ่อนค่าเกินไปไม่ดีหรือแข็งค่าเกินไปจะทำให้ส่งออกยาก จนเกิดคำถามที่ว่า การที่ค่าเงินบ้านเราอ่อนค่าลงมากขนาดนี้ใครได้หรือเสียประโยชน์? และแนวโน้มของค่าเงินบาทจะเป็นไปอย่างไร?
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ค่าเงินบาทมีความแข็งค่ามากอยู่ราว ๆ 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในตอนนั้นกระทบต่อผู้ส่งออกโดยตรง เนื่องจากสามารถส่งออกได้น้อยลงจากการที่ต่างประเทศต้องใช้เงินมากขึ้น เพื่อที่จะซื้อสินค้าจากเรา แต่ ณ ปัจจุบันที่เงินบาทอ่อนค่าดูเหมือนการส่งออกจะมีอำนาจการต่อรองจากคู่ค้าสูงขึ้น เนื่องจากต่างประเทศใช้เงินน้อยลงในการซื้อสินค้าจากเรา และเราก็ได้รับเงินในจำนวนที่มากขึ้น ดังนั้น แน่นอนว่าความสามารถในการแข่งขันสำหรับการส่งออกเราจะสูงขึ้น โดยเราสามารถต่อรองเรื่องราคา หรือลดราคาให้กับทางคู่ค้าได้
ตัวอย่างเช่น สินค้าเกษตรที่มีการแข่งขันสูง ในเมื่อค่าเงินเรากำลังอ่อนค่า ทางคู่ค้าต้องให้ความสนใจสินค้าของเรามากกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว เนื่องจากสามารถซื้อได้ในจำนวนที่มากกว่า แต่ต้องบอกก่อนว่า เงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกทุกกลุ่ม ในทางกลับกัน เมื่อค่าเงินของอ่อนลง จะทำให้ต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับการนำเข้า ดังนั้น เราจะเสียเปรียบในเรื่องนี้
หลายคนกังวลว่าจะเกิดต้มยำกุ้งอีกครั้ง!
ต้องขอบอกก่อนว่า การอ่อนค่าในวันนี้กับวันนั้นต่างกัน เนื่องจากการอ่อนค่าเงินบาทในรอบนี้เป็นปัจจัยมาจากภายนอกประเทศ ทั้งเงินดอลลาร์และเงินหยวนของจีนที่แข็งค่าขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ แต่โดยรวมนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นตลาดตราสารของไทยอยู่มาก ในส่วนของกระแสเงินสดในตาดทุนเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นโลก อีกทั้ง เงินทุนสำรองในประเทศยังมีอยู่มาก และหนี้ต่างประเทศอยู่ในระยะสั้น ซึ่งแตกต่างจากในช่วงปี 1997 ที่เราต้องนำเงินทุนสำรองในประเทศไปใช้หนี้จนเกือบหมด
แนวโน้มค่าเงินบาทในอนาคต
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักวิเคราะห์มีการปรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขึ้น โดยเดิมทีมีการคาดการณ์ไว้ว่า ค่าเงินบาทจะต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 และสามารถฟื้นตัวในไตรมาส 4 แต่ความไม่แน่นอนในเรื่องของเงินเฟ้อจากฝั่งสหรัฐฯ ดูเหมือนจะยังไม่จบง่าย ๆ ที่สำคัญรายได้จากนักท่องเที่ยวในจีนคงไม่มีเข้ามาในปีนี้ ดังนั้น ปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกจึงลดลง แต่เราอาจได้เห็นค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนลงได้บ้างในช่วงไตรมาส 4 และทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทอยู่ที่
- สูงสุด: 37.50 บาทต่อดอลลาร์
- ต่ำสุด: 35.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับการลงทุนในช่วงนี้จำเป็นต้องพิจารณาว่าหุ้นกลุ่มใดจะได้รับประโยชน์ หุ้นกลุ่มใดจะเสียประโยชน์ หรือไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทเลย เพราะปัจจัยค่าเงินมีผลกระทบต่อราคาหุ้นด้วยเช่นกัน อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า สินค้าเกษตรจะได้เปรียบได้การส่งออก ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มหุ้นเกี่ยวกับเกษตรกรรมถือว่ามีความน่าสนใจ นอกจากนั้น ในปีนี้หุ้นกลุ่มส่งออกอย่างชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรืออาหาร ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดโดยรวมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เงินบาทสามารถอ่อนค่าได้อย่างต่อเนื่อง หากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าอยู่ แต่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากภาคเอกชนในประเทศยังคงแข็งแกร่งและหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระยะสั้น ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นค่าเงินแบบลอยตัว (Managed Float) โดยค่าเงินบาทถูกกำหนดโดยกลไกตลาด และธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าดูแล หากมีความผันผวนมากเกินไป ทำให้นักลงทุนสามารถคลายความกังวลได้
Source: ทีมงาน Traderbobo
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker