ในยุคปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เราใช้แค่เงินเดือน (Active Income) นั้นคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทำให้หลายคนมองหารายได้จากทางอื่น (Passive Income) เข้ามาช่วยจุนเจือ และวิธีการที่นิยมมากที่สุด คือ การลงทุน หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับการลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Average ก็ไปมากเแล้ว ซึ่งเป็นการทยอยการลงทุนเป็นงวดในจำนวนที่เท่ากัน โดยไม่สนใจราคาของสินทรัพย์นั้น ๆ แต่การลงทุนวิธีนี้ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องจำนวนเงิน เนื่องจากต้องลงทุนในจำนวนที่เท่ากันทุกงวด ดังนั้น วันนี้พี่โบ้จึงมีการลงทุนอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า DCA แต่มีความยืดหยุ่นในด้านของเงินลงทุนในแต่ละครั้งมากกว่า ซึ่งยังไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนัก นั่นก็คือ การลงทุนแบบ VA หรือ Value Averaging
การลงทุนแบบ VA คืออะไร ?
การลงทุนแบบ VA (Value Averaging) เป็นการลงทุนที่มีวิธีการคล้ายคลึงกับ DCA แต่จะเน้นไปที่ผลลัพธ์เป็นหลัก โดยเราจะลงทุนสม่ำเสมอเป็นงวดเช่นเดิม เช่น ลงทุนรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี แต่จำนวนเงินที่จะใส่ในแต่ละงวดไม่เท่ากัน และจะให้ความสำคัญกับการควบคุมปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ เพื่อให้มูลค่าของพอร์ตเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น การลงทุนแบบ VA เราจะสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” จำนวนเงินทุนได้ตามมูลค่าพอร์ต หากช่วงไหนหุ้นขึ้นเราก็ปรับลดจำนวนทุนลง แต่หากช่วงไหนหุ้นลงเราก็ต้องเพิ่มเงินลงทุนนั่นเอง
หมายเหตุ* สินทรัพย์ในที่นี้อาจจะหมายถึง หุ้น คริปโตฯ ตราสารหนี้ โลหะมีค่า หรือสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเราสามารถนำ การลงทุนแบบ VA ไปปรับใช้ในสินทรัพย์ใดก็ได้ที่เราต้องารลงทุน
ตัวอย่างเช่น เราต้องการพอร์ตที่มีมูลค่า 30,000 บาท ภายใน 3 เดือน หากเป็นการลงทุนแบบ DCA เราก็จะต้องลงทุนเดือนละ 10,000 บาท แต่หากเป็นการลงทุนแบบ VA จะไม่คิดเช่นนั้นครับ
เป้าหมาย | เดือนที่ 1 | เดือนที่ 2 | เดือนที่ 3 |
เป้าหมายตั้งต้น | 10,000 | 20,000 | 30,000 |
มูลค่าในพอร์ต | – | 15,000 | 13,000 |
เงินลงที่ต้องลงทุน | 10,000 | 5,000 | 17,000 |
ผลรวมมูลค่าพอร์ต ตามเป้าหมาย | 10,000 | 20,000 | 30,000 |
การลงทุนแบบ VA ในเดือนแรกเราจะลงทุนตามจำนวนที่กำหนดไว้ คือ 10,000 บาท และหากตอนนั้นหุ้นขึ้นจนทำให้มูลค่าพอร์ตของเราเท่ากับ 15,000 บาท ในเดือนถัดมาจำนวนเงินทุนที่เราต้องลงทุนเพิ่มจะอยู่ที่ 5,000 บาท ซึ่งมาจาก 15,000 (มูลค่าพอร์ต) – 10,000 (จำนวนเงินทุนที่เราคิดไว้ในแต่ละเดือน) ในทางกลับกัน หากเดือนที่ 3 หุ้นราคาลงจนทำให้มูลค่าพอร์ตเหลือแค่ 13,000 เราก็ต้องลงทุนเพิ่มเป็น 17,000 บาท
ความแตกต่างระหว่าง DCA และ VA
ตารางเปรียบเทียบลักษณะการลงทุน
การลงทุน | ลงทุนเป็นงวด | จำนวนเงินลงทุน ในแต่ละงวด | ควบคุมปริมาณ ซื้อขายสินทรัพย์ | ดูมูลค่าพอร์ต |
DCA | ✅ | เท่ากัน | ❌ | ❌ |
VA | ✅ | ไม่เท่ากัน | ✅ | ✅ |
การลงทุนแบบ DCA
- ลงทุนเป็นงวด
- ลงทุนเท่ากันทุกงวด
- ไม่ควบคุมปริมาณซื้อขายสินทรัพย์
- ไม่สนใจมูลค่าในพอร์ต
- ไม่ต้องติดตามพอร์ตมากนัก
การลงทุนแบบ VA
- ลงทุนเป็นงวด
- ลงทุนไม่เท่ากันทุกงวด เนื่องจากต้องดูมูลค่าพอร์ตและราคาสินทรัพย์ร่วมด้วย
- ควบคุมปริมาณซื้อขายสินทรัพย์
- สนใจมูลค่าในพอร์ต
- ต้องติดตามพอร์ตสม่ำเสมอ
การลงทุนแบบ VA ดีกว่า DCA อย่างไร ?
คำตอบ: การลงทุนแบบ VA จะมีข้อได้เปรียบในแง่ของจำนวนสินทรัพย์
เช่น ในการลงทุนทั้ง DCA และ VA เมื่อราคาหุ้นลดลงจะทำให้เราได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในแต่ละครั้ง แต่การลงทุนแบบ VA จะได้จำนวนหุ้นมากกว่า เพราะมีการเพิ่มเงินลงทุนไปด้วย ในทางกลับกันเมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น การลงทุนแบบ VA จะลดจำนวนเงินลงทุนที่ซื้อลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า เมื่อราคาของแพงขึ้น เราก็จะซื้อน้อยลง ส่งผลให้การลงทุนของเรามีประสิทธิภาพมากกว่าครับ
ข้อดีและข้อเสียของ “การลงทุนแบบ VA“
ข้อดีของการลงทุนแบบ VA
- สามารถยืดหยุ่นจำนวนเงินลงทุนได้
- ช่วงไหนที่ราคาสินทรัพย์ขึ้น เราจะใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่า DCA
- ได้เปรียบในแง่จำนวนสินทรัพย์
ข้อเสียของการลงทุนแบบ VA
- ต้องมีวินัยมากกว่า DCA
- ต้องติดตามพอร์ตอยู่เสมอ
- ต้องมีเงินในสำรองในช่วงราคาสินทรัพย์ลง
- ไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลา
———————————— 🐶 ————————————
อย่างไรก็ตาม การลงทุนทั้ง 2 แบบนั้น ไม่เหมาะกับการเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากต้องใช้เวลา และอาศัยการวิเคราะห์หุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานค่อนข้างดี แต่การลงทุนเช่นนี้ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีอย่างหนึ่งของนักลงทุน ดังนั้น เราสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนโดยแยกเป็น 2 วิธีได้ การทำเช่นนี้จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่: ข่าวน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker