ระวังตกรถ! หากไม่รู้จัก ESG คืออะไร? ธีมความยั่งยืนที่ระดับโลกยอมรับ

Table of Contents
esg คืออะไร

“ธุรกิจที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ปัจจุบันการลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้มีผู้คนหันมาให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก แต่หากคุณต้องการที่จะทำให้พอร์ตของคุณเติบโต และมีโอกาสทำกำไรได้มากที่สุด หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง จำเป็นต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับ Mega Trend หรือ เทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ 🔥

. . . . . . . . . . . . . .

ที่มาของหลักการ ESG ความยั่งยืน

สืบเนื่องมาจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นจากเงื้อมือมนุษย์ที่สะสมมาอย่างยาวนาน จนหลายประเทศได้รับผลกระทบ และกดดันให้ทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต รวมถึงผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมารับผิดชอบต่อสังคม และสนใจสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

… สภาพอากาศแปรปรวน

… อุปโภค-บริโภคอย่างสิ้นเปลือง

… สูญเสียสมดุลทางชีวภาพ

… ขยะมูลฝอยทั่วโลกตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากถึง 2 พันล้านตัน

จนเกิดแนวคิดการพัฒนาธุรกิจหรือองค์กรอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญมากที่สุด เพื่อประกอบการพิจารณาที่จะลงทุนในธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ หรือ “คัดเลือกหุ้น” เข้าพอร์ตการลงทุน

หลักการ ESG คือ เทรนด์ลงทุนระดับโลกที่ “ไม่ใช่แค่ Mega Trend” แต่กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการ “เลือกหุ้น” สู่ความยั่งยืนที่จับต้องได้ และมีโอกาสเติบโตสูงที่สุดในขณะนี้ 🚀

————————- 🐶 ————————-

ทำความรู้จัก ESG คืออะไร? (ESG Sustainability)

ESG คืออะไร
รูปภาพจาก: Fair360

ESG คือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยในปัจจุบันนักลงทุนหันมาใช้หลักการ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุน หรือที่เรียกกันว่า “ESG Standard”

. . . . . . . . . . . . . .

ESG Standard คืออะไร?

ESG Standard คือ มาตรฐานของบริษัทที่นักลงทุนนำมาพิจารณา และคัดกรองว่าจะลงทุนในบริษัทนี้หรือไม่ เพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance)

หลักการ ESG ย่อมาจากอะไร?

ESG ย่อมาจาก Environmental, Social และ Governance โดยแนวคิด ESG จะสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างมาก และนำมาสู่การดำเนินงานที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “ESG Sustainability” โดย ESG มีความหมายดังนี้

ESG ย่อมาจากความหมาย
“E”ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“S”ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ
“G”ความรับผิดชอบในการดำเนินงานที่โปร่งใส

หลักการ ESG มีอะไรบ้าง? ESG มีกี่ด้าน?

หลักการ ESG แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะใช้พิจารณาเลือกลงทุนในหุ้น หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

ESG : “E”

  • E = Environment (สิ่งแวดล้อม) คือ การคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติของบริษัท โดยบริษัทต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งรักษาและฟื้นฟู ซึ่งต้องลดการทำธุรกิจที่ทำลายธรรมชาติด้วย

ESG : “S”

  • S = Social (สังคม) คือ การคำนึงลูกจ้าง, Suppliers และลูกค้า เนื่องจากคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร ดังนั้น บริษัทต้องไม่เอาเปรียบ และใส่ใจสุขภาพกายและใจของลูกจ้าง พร้อมกับดูแลลูกค้า รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร

ESG : “G”

  • G = Governance (การกำกับดูแล) คือ การคำนึงถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทต้องสามารถทำการตรวจสอบได้ และทำธุรกิจอย่างสุจริต

ตัวอย่าง ESG ในไทยและทั่วโลก

ESG คืออะไร

สืบเนื่องมาจากประเด็นของสภาพแวดล้อมทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ประกอบและนักลงทุนเล็งเห็นความสำคัญของ ESG ความยั่งยืนในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการนำหลักการ ESG มาใช้ดำเนินธุรกิจ สามารถเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน และปรับอัตราการเติบโตของธุรกิจให้สูงขึ้นได้ในระยะยาว โดยมีตัวอย่าง ESG ในไทยและทั่วโลก ดังต่อไปนี้

ตัวอย่างโครงการ ESG ในไทย

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานระดับนานาชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจด้านพลังงานนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติโดยตรง บ้านปูจึงมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการลด Water Withdrawal และ Water Discharge โดยร่วมมือกับลูกค้าที่เป็นโรงไฟฟ้าให้ใช้น้ำจากเหมืองใต้ดินของบ้านปู

นอกจากนี้ บ้านปูยังส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมองค์กร Banpu Heart ที่เชื่อมโยงพนักงานจาก 10 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่บ้านปูมีการดำเนินธุรกิจอยู่ รวมถึงมีกฎเกณฑ์ที่รัดกุมด้านความปลอดภัยให้พนักงานและชุมชน และการต่อต้านคอรัปชัน ตลอดจนการดูแลเรื่องของข้อมูลบริษัทและลูกค้า

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายบริษัทยัก์ใหญ่ในไทยที่ได้เริ่มนำแนวคิด ESG ความยั่งยืนมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ เช่น TRUE, SCG, TWPC และ S&P

ตัวอย่างโครงการ ESG ที่ใช้กันทั่วโลก

ตัวอย่าง ESG : Environment (สิ่งแวดล้อม)

  • การใช้พลังงานและประสิทธิภาพ
  • ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ
  • ลดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • นโยบายการปลูกป่าทดแทน

ตัวอย่าง ESG : Social (สังคม)

  • ค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล
  • การรักษาข้อมูลของลูกค้า
  • ให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชน
  • จริยธรรมในการโฆษณา
  • เพิ่มมาตรฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

ตัวอย่าง ESG : Governance (การกำกับดูแล)

  • ความโปร่งใสในการดำเนนธุรกิจ
  • วัฒนธรรมองค์กรที่ดี
  • วิธีการจัดการในเรื่องของภาษี
  • กฎเกี่ยวกับการทุจริต, การติดสินบน, ผลประโยชน์ทับซ้อน และการบริจาค
  • มีโปรแกรมแจ้งเบาะแสการทุจริตในองค์กร

📌 Tip! ตลาดหุ้นไทยมีจัดทำรายชื่อ ESG ตลาดหลักทรัพย์ หรือรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุน และมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่นำเสนอการทำ ESG ต่อสาธารณชนควบคู่ไปกับงบการเงิน ซึ่งเราจะอธิบายอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป

รายชื่อหุ้น ESG บริษัทจดทะเบียน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน (THSI)” ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการด้าน ESG ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance: ESG)

นอกจากนี้ รายชื่อหุ้น ESG บริษัทจดทะเบียนจะช่วยเพิ่มอำนาจการตัดสินใจรวมถึงโอกาสให้กับธุรกิจและการลงทุน ในทางกลับกัน ESG คือ ความท้าทายอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ต้องระมัดระวัง ท่ามกลางยุคของ Social Media ที่ข่าวสารสามารถแพร่ถึงนักลงทุนและผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ของบริษัทจดทะเบียน โดยมีข้อมูลทั้งหมดดังนี้

  • ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CGR)
  • บริษัทได้รับคัดเลือกอยู่ใน SETTHSI Index
  • บริษัทได้รับคัดเลือกอยู่ใน DJSI
  • บริการจัดอันดับ ESG Risk Rating ของธุรกิจทั่วโลก โดย Arabesque และ Vigeo

ESG คือ

การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk)

ทุกสิ่งบนโลกย่อมมีทั้งด้านดีและไม่ดี ซึ่งการนำ ESG เข้ามาใช้ในธุรกิจก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการที่จะต้องจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนให้ได้ เพื่อสร้างโอกาส และลดความเสี่ยงที่อาจส่งต่อความสามารถในการสร้างกำไร และความอยู่รอดของบริษัท

ESG Risk คืออะไร?

ESG Risk คือ ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับประเด็นด้าน “ESG” หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance)

ความเสี่ยง ESG มีกี่ด้าน? พร้อมตัวอย่าง ESG Risk

ESG Risk ด้านสิ่งแวดล้อมESG Risk ด้านสังคมESG Risk ด้านการกำกับดูแล
▪ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ▪ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน▪ ความบกพร่องในมาตรการกำกับดูแลภายในองค์กร
▪ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของ Carbon Tax▪ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน▪ การที่องค์กรอาจไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญ
▪ ค่าใช้จ่ายในการเลือกวัสดุที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด▪ พนักงานไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้▪ การไม่ผ่านกฎระเบียบ เช่น การพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

จากการที่ธุรกิจสามารถมี ESG Risk ได้ จึงทำให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ได้จัดทำ “ESG Risk Rating” ที่เราได้กล่าวถึงในหัวข้อรายชื่อหุ้น ESG บริษัทจดทะเบียนขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ความยั่งยืนให้กับบริษัททั่วโลก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ESG Risk Rating คืออะไร?

ESG Risk Rating คือ ข้อมูลจากการวิจัยด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมากกว่า 13,000 บริษัททั่วโลก โดยเป็นการวัด Unmanaged ESG Risk ของแต่ละบริษัท ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ประการ ดังนี้

  1. Risk Exposure ความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบริษัท (MEI: Material ESG issues)
  2. Risk Management การวัดผลเกี่ยวกับวิธีการจัดการความเสี่ยง

*หมายเหตุ: ผลการวิเคราะห์ของแต่ละบริษัทสามารถนำไปเปรียบเทียบกันได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเภทอุตสาหกรรม

📌 Tip! ปัจจุบันมีหุ้นไทยจำนวนกว่า 130 ตัวที่มี ESG Risk Rating ซึ่ง ESG Risk Rating คือ ค่า “ความเสี่ยง” ทำให้ “ยิ่งต่ำจะยิ่งดี” และบริษัทที่มี Risk Exposure สูงมักจะมีค่า ESG Risk Rating สูงกว่าบริษัทที่มี Risk Exposure ต่ำ

หุ้น ESG สร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าจริงหรือไม่?

หากอ่านมาจนถึงตรงนี้ คุณอาจกำลังตั้งคำถามว่า ESG สามารถสร้างความยั่งยืนควบคู่ไปกับผลตอบแทนที่ดีกว่าได้จริงหรือไม่ หรืออาจเป็นเพียง “ตัวกรอง” จากธุรกิจบาป และลงทุนตามเทรนด์ที่เป็นกระแสเพียงแค่นั้น ดังนั้น ในหัวข้อนี้เราขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนทุกคน และคุณอาจนำไปใช้พิจารณควบคู่ไปพร้อมกับวิจารณาของแต่ละบุคคลครับ โดยเราจะแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ข้อมูลความนิยมในการลงทุนธีม ESG ความยั่งยืน

  • ข้อมูลผลตอบแทนจากหุ้น ESG

ข้อมูลความนิยมในการลงทุนธีม ESG ความยั่งยืน

⭐ ประเด็นแรก จากข้อมูลของ State Street Global Advisors ในปี 2560 ได้ทำการศึกษากับผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กรในทวีป สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ เอเชียแปซิฟิก พบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันกว่า 80% มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG

⭐ ประเด็นต่อมา จากข้อมูลของ Financial Planning Association ในปี 2563 ได้ทำการสำรวจกับผู้ให้คำแนะนำทางการเงินจำนวน 242 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้แนะนำทางการเงินมีการแนะนำนักลงทุน และได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

⭐ และประเด็นสำคัญ ผลการวิจัยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนอาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งผลจากการทดลองจัด Portfolio บริษัทจดทะเบียนไทยตามดัชนี DJSI ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า Portfolio ดังกล่าว ให้ผลตอบแทนรวมสะสม 51% ซึ่งมากกว่าดัชนี SET100TRI ที่ใช้เปรียบเทียบอยู่ 13%

ข้อมูลผลตอบแทนจากหุ้น ESG

⭐ จากการนำเสนอของ The Standard มีตัวเลขพิสูจน์แล้วว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน S&P500 ESG Index สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า S&P500 ในช่วงที่โควิด-19 เกิดการแพร่ระบาด โดยมีผลตอบแทนที่สูงกว่า 6%

⭐ นอกจากนี้ งานวิจัยของ New York University ได้กล่าวถึงรายงานกว่า 1,000 ชิ้น ที่ทำการรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2016 – 2022 ที่มีผลการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันว่า บริษัทที่ลงทุนใน ESG มีโอกาสสร้างกำไรในระยะยาวมากกว่าหุ้นกลุ่มอื่น เนื่องจากหุ้น ESG มีความเสถียรภาพสูง และสามารถต่อต้านผลกระทบจากวิกฤตต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นแรกที่เราได้กล่าวถึง

⭐ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทถูกจัดอยู่ในหุ้น ESG ไม่ได้ดีเสมอไป เนื่องจากมีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่หลายแห่งที่มีชื่อเสียงในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่แท้จริงกลับมีปัญหาภายในและกลายเป็นข่าวออกสู่สาธารณชน หรือมี ESG Risk Rating สูงนั่นเอง ซึ่งตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจน คือ Tesla โดยบริษัทมีปัญหาด้านการจัดการในกรณีที่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายราย รวมถึงมีประวัติที่ไม่ดีเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแรงงาน

สำหรับข่าวเสียหายที่ออกมาเหล่านี้ ทาง Elon Musk ได้ออกมาตอบโต้และพยายามพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอด แต่คะแนนทางด้าน ESG ของ Tesla ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

————————- 🐶 ————————-

สรุป ESG คืออะไร? น่าลงทุนจริงหรือไม่?

จากปัญหาที่โลกอาจต้องเจอกับวิดฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการปรับตัว รวมถึงนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนงอกเงยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น หลักการ ESG จึงเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน และเลือกหุ้นหรือกองทุนที่บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ESG คือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่ง ESG ย่อมาจากสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) ทั้งนี้ บริษัทที่ดีจึงต้องสามารถเพิ่มผลกำไรไปพร้อมกับรักษาหลักการ ESG ให้ได้

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีรวบรวม “หุ้นยั่งยืน (THSI)” หรือหุ้นของบริษัทที่มีการดำเนินการ ESG กว่า 100 บริษัท เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเป็นตัวช่วยในการพิจารณาเลือกหุ้นสำหรับนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีการจัดอันดับ ESG Risk Rating (ยิ่งต่ำยิ่งดี) ซึ่งเป็นเหมือนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG อีกด้วย

จากข้อมูลการลงทุนต่าง ๆ พบว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม ESG สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าบริษัทกลุ่มอื่น ๆ ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ควรมองแค่ว่า บริษัทนั้นถูกจัดอยู่ใน ESG แต่ควรพิจารณา ESG Risk Rating เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมและทำความรู้จักกับบริษัทนั้น ๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนของคุณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

*หมายเหตุ: การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

. . . . . . . . . . . . . .

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ESG

ESG คืออะไร?

คำตอบ: แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ESG ย่อมาจากอะไร?

คำตอบ: ESG ย่อมาจากสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance)

บริษัทในกลุ่มภูมิภาคใดที่ให้ความสําคัญกับ ESG Standard มาก?

คำตอบ: คุณสามารถค้นหาข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงงบการเงินได้ตามเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่มักจะนำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการด้าน ESG รวมไว้ในงบการเงิน สำหรับประเทศไทยคุณสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ Settrade นอกจากนี้ คุณควรพิจารณา ESG Risk Rating ร่วมด้วย

EASE Excise คืออะไร?

คำตอบ: EASE Excise คือ ยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตที่มุ่งเน้นไปด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จากการที่ประเทศไทยติด 9 ใน 10 ของประเทศที่มีโอกาสได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรงที่สุดจากทั่วโลก

ESG ภาษี คืออะไร?

คำตอบ: กรมสรรพสามิตได้มีการลดภาษีในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ESG กรมสรรพสามิต คืออะไร?

คำตอบ: นอกจากที่นักลงทุนต้องตามให้ทันเทรนด์โลกแล้ว ในประเทศไทย “กรมสรรพสามิต” กำลังปรับตัวสู่ “กรม ESG” ด้วย “EASE Excise” และลดภาษี EGS อีกด้วย

ESG Standard คือ ประเทศอะไร?

คำตอบ: ESG Standard คือ มาตรฐานของบริษัทที่นักลงทุนนำมาพิจารณา และคัดกรองว่าจะลงทุนในบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ตลาดเงินทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

ESG ความเสี่ยง มีไหม?

คำตอบ: การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง โดยความเสี่ยงด้าน ESG แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance)


อ่านบทความเพิ่มเติม: สาระน่ารู้

วิเคราะห์ราคาทองคำรายวัน: วิเคราะห์ราคาทองคำ และ Facebook Page

Social Share
Facebook
Twitter
บทความน่าสนใจ
Adsense
Table of Contents
บทความน่าสนใจ
Adsense