Free Float เป็นคำที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่มักพูดกันว่า “หุ้นนี้มี Free Float กี่เปอร์เซ็นต์” ซึ่งเปอร์เซ็นต์นี้จะสามารภบ่งชี้ได้ว่า หุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่นั้น ถือเป็นหุ้นที่ดีหรือไม่ โดยบทความนี้จะขออธิบายให้กระจ่าง และเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น รับรองได้ว่า หากเข้าใจมันดีแล้ว เราจะสามารถเลือกหุ้นได้ดีขึ้นด้วยตนเองอย่างแน่นอน
Free Float คืออะไร ?
ฟรีโฟลทเป็นการกระจายการถือหุ้นให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อย คือ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร (Strategic Shareholders) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า คนที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงนั่นแหละครับ รวมไปถึงจะต้องมีการถือหุ้นไม่เกิน 5% ของหุ้นตัวนั้น ดังนั้น เรานี่แหละคือผู้ถือหุ้นรายย่อย
ยกตัวอย่างเช่น หากหุ้นตัวนั้นมีฟรีโฟลท 30% หมายความว่า ทางบริษัทปล่อยหุ้นจำนวน 30% ให้กับรายย่อยอย่างพวกเราซื้อขายกันในตลาด ส่วนอีก 70% จะเป็นในส่วนของนักลงทุนรายใหญ่หรือผู้บริหาร
ฟรีโฟลทสำคัญอย่างไรในตลาดหุ้น ?
โดยปกติแล้วฟรีโฟลทมีความสำคัญแบบหลายมิติ ดังนี้
- มีผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้น
- มีผลต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น
- มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น
ฟรีโฟลทที่ดีต้องมีค่า สูง หรือ ต่ำ
- มีค่าต่ำ หมายถึง มีสภาพคล่องต่ำ ซึ่งทำให้การซื้อขายหุ้นจำนวนมากทำได้ค่อนข้างยาก
- มีค่าสูง หมายถึง มีสภาพคล่องสูง ซึ่งการซื้อขายหุ้นจำนวนมากจึงทำได้ง่าย
หุ้นที่มีฟรีโฟลทสูง มีความผันผวนของราคาหุ้นน้อยกว่าฟรีโฟลทต่ำ และสามารถทำการบิดเบือนราคาหุ้น (ปั่นหุ้น) ได้ยาก เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อทำให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำ จะทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมากกว่า และสามารถปั่นราคากันได้ง่าย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดให้ฟรีโฟลทเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการเข้าจดทะเบียน และดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทจดทะเบียนจะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว ซึ่งพิจารณาจากรายงานการกระจายหุ้นของผู้ถือหุ้นสามัญที่บริษัทจัดทำขึ้นจากรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ปรากฏ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date : RD) หรือวันปิดสมุดทะเบียน (Book Closing Date : BC) พักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท
การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดเช่นนี้ เนื่องจากฟรีโฟลทเป็นส่วนสำคัญของการมีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัท เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นได้อย่างคล่องตัว และได้ราคาที่เหมาะสม ดังนั้น บริษัทจะต้องคอยตรวจสอบฟรีโฟลทให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม เหรียญมักมีสองด้านเสมอ เพราะยังมีข้อโต้แย้งจากนักลงทุนบางกลุ่มว่า หากหุ้นที่มีฟรีโฟลทสูงนั้นดีจริง เหตุใดผู้ถือหุ้นรายใหญ่จึงถือในจำนวนที่น้อย และเลือกที่จะนำออกมาขายให้นักลงทุนรายย่อยมากกว่า ดังนั้น สิ่งสำคัญก่อนคิดที่จะลงทุน ต้องทำความเข้าใจถึงการบริหารงาน และวิธีการทำกำไรของตัวบริษัทให้ดี ซึ่งฟรีโฟลทเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเลือกหุ้นที่ดีเท่านั้น
Source: 2.set.or.th และ Investopedia
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker