สำหรับเทรดเดอร์ที่เพิ่งเริ่มต้นเทรด หรือเทรดมานานแล้ว หลายท่านอาจสงสัยว่า เทรด Bitcoin ต้องเสียภาษี จริงหรือไม่? เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือข้อบังคับรองรับมากนัก ดังนั้น คำถามนี้จึงเป็นที่สงสัยของเหล่าเทรดเดอร์หลายคน ซึ่งวันนี้ พี่โบ้จะขอมาตอบคำถามนี้ก่อนเลยนะครับว่า “ต้องเสีย” เนื่องจากคนไทยยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาล หากมีรายได้เกิดขึ้น ไม่ว่ารายได้นั้นจะมาจากแหล่งใดก็ตาม แต่คำถามต่อไป คือ เสียอย่างไร และต้องทำอย่างไรบ้าง? เดี๋ยวพี่โบ้มีคำตอบครับ
เทรด Bitcoin ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักกฎหมาย
หากอ้างอิงจากคู่มือคำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2565) ของกรมสรรพากร ตามหลักกฎหมายแล้ว หากคุณเทรด Bitcoin หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ได้กำไรจากตลาด Cryptocurrency คุณจะต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะได้กำไรมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ซึ่งหากจะพูดให้เข้าใจง่ายหน่อยก็เช่น
“ราคาขาย – ต้นทุน = กำไรเพื่อเสียภาษี”
ตัวอย่าง คุณทำการเข้าซื้อ Bitcoin ในราคา 100,000 บาท จำนวน 1 BTC และขายออกไปขณะที่ราคาของ Bitcoin ขยับขึ้นไป 200,000 บาท ดังนั้น หากคุณขาย Bitcoin จำนวน 1 BTC = คุณจะได้กำไร 100,000 บาท
นั่นแสดงว่า คุณจะต้องเสียภาษีให้สรรพากร 15% นับเป็นเงิน 15,000 บาท ณ ที่จ่าย ก่อนที่จะนำเงินไปคำนวนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดว่า คุณจะสามารถขอคืนได้หรือไม่ต่อไป
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรมีวิธีคำนวณต้นทุนอยู่ 2 แบบ คือ ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน และต้นทุนแบบถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เสียภาษีจึงควรศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดที่ลึกขึ้นครับ
กิจกรรมที่ต้องเสียภาษี
- ขายเหรียญ Cryptocurrency เป็นเงินสด (Fiat Money)
- แลกเหรียญจากสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง
- ใช้ Cryptocurrency ในการซื้อขาย สินค้าและบริการ
- ได้ Cryptocurrency มาฟรี ไม่ว่าจะจาก AirDrop รางวัล หรือจากบุคคลอื่นใดก็ตาม
- ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือครอง เช่น ปันผล ส่วนแบ่งกำไร Reward
- ผลประโยชน์จากการนำเหรียญไป Staking หรือ Yield Farming
- การขุด Cryptocurrency
- การขาย NFT
- ผลประโยชน์ที่ได้รับจาก Game-Fi
แต่ในความเป็นจริง…มันไม่ได้เก็บกันง่ายแบบนั้น!
- ในกรณีที่เราซื้อขาย Cryptocurrency แบบที่ไม่มีเงินบาทมาเกี่ยวข้อง แม้กำไรจะได้เป็น Cryptocurrency ก็มีปัญหาว่าจะใช้หลักการใดในการประเมินว่า Bitcoin นั้นราคาเท่าไหร่ เพราะไม่มีผู้กำหนดราคากลาง
- การเก็บเงินเป็น Cryptocurrency จึงอยู่นอกระบบเงิน และทำการตรวจสอบได้ยาก ปัจจุบัน การคำนวณภาษีจึงเกิดขึ้นเฉพาะจุดที่มีการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทเท่านั้น
- การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตจะทำหน้าที่จัดเก็บภาษี แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดที่ได้รับมอบหมายอำนาจในการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ในตลาด Cryptocurrency
- ทำให้ผู้ซื้อขายต้องยื่นเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพียงเท่านั้น
ดังนั้น หากทำการซื้อขาย Cryptocurrency ทุกคนควรเก็บหลักฐานไว้ เพื่อเป็นการยืนยันความเป็นมาของรายได้ ตอนยื่นภาษีนะครับ
และนี่ก็คือคำตอบของคำถามที่พี่โบ้ได้รับมาเป็นจำนวนมาก ตอนนี้คงกระจ่างกันมากขึ้นแล้วนะครับ หลายคนอาจมองว่าเป็นการลทุนที่ได้เงินง่าย แต่มีความเสี่ยงมากนะครับ ตั้งสติให้ดี พี่โบ้ขอเตือน…
Source: iTAX, คุณน้าพาเทรด
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker