Gold Spot เเละราคาเเนวรับเเนวต้าน ประจำวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565

Table of Contents

▪ ราคาทองคำ Spot ปิดร่วงลงในวันศุกร์ (1 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากการที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค.

▪ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.33% แตะที่ 98.6320 ในวันศุกร์ ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ อีกทั้งการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

▪ สัญญาทองคำยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.626% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.576% เเละอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวอยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นอยู่ที่ระดับ 2.448% อีกทั้งพันธบัตรอายุ 30 ปีอยู่ที่ระดับ 2.536% ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

▪ นอกจากนี้การร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์กดดันราคาสัญญาทองคำด้วย โดยสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐฯ ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันศุกร์

▪ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. แม้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มี.ค.

▪ เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.3 ในเดือน ก.พ. โดยดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัว

Social Share
Facebook
Twitter