วิเคราะห์แนวโน้ม ‘ฟองสบู่แตก’ นักลงทุนควรรับมืออย่างไร ?

Table of Contents
ฟองสบู่แตก

‘ฟองสบู่แตก’ ปรากฎการณ์ที่น่ากลัวที่สุดสำหรับนักลงทุน

ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ได้มีนักวิเคราะห์และนักลงทุนระดับโลกหลายคนออกมาเตือนว่า ปรากฎการณ์ฟองสบู่แตกจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่กว่าครั้งอื่น ๆ สอดคล้องกับการที่ Jeremy Grantham นักลงทุนในตำนานที่ผ่านการเกิดฟองสบู่แตกมาแล้วกว่า 3 ครั้ง ได้ออกมาวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นว่าเป็นเพียงภาพลวงตา พร้อมทั้งเตือนว่า โลกกำลังจะเผชิญกับภาวะฟองสบู่แตกเร็ว ๆ นี้

ฟองสบู่แตก

ฟองสบู่แตก คืออะไร ?

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นอีกวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงสำหรับทั้งนักลงทุนและประชากรทั่วไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง โดยเกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนหรือทัศนคติของนักลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์นั้นดีเกินไป เมื่อราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดอิ่มตัวก็เกิดการระเบิดเหมือนกับฟองสบู่ที่ขยายตัวจนแตก ทำให้ราคาสินทรัพย์ร่วงลงอย่างไม่ทันตั้งตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและใกล้ตัวเรามากที่สุด คือ ช่วงวิฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ถือเป็นภาวะฟองสบู่แตกที่เกิดครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ จนส่งผลกระทบไปหลายภาคส่วน

สัญญาณการเกิดฟองสบู่แตก

สัญญาณสำคัญที่มักจะเกิดขึ้น โดย Ray Dalio นักลงทุนระดับโลกชื่อดัง และผู้บริหารกองทุน Bridgewater สรุปไว้ 7 อย่าง ดังนี้

  • เริ่มมีนักลงทุนใหม่เข้ามาในตลาด
  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากเกินไป
  • การกู้ยืมเพื่อซื้อสินทรัพย์ที่มากขึ้น
  • การซื้อสินทรัพย์ด้วยสัญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผิดปกติ
  • ทัศนคติที่เป็นบวกเกินไปของนักลงทุน
  • ราคาสินทรัพย์สูงขึ้นกว่าปกติ
  • ราคาที่ขึ้นมานั้นเป็นราคาที่รับรู้มูลค่าแล้วในอนาคต

แนวโน้มการเกิดฟองสบู่แตกครั้งต่อไป

สืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ส.ค. ที่ผ่านมา โดย Jeremy Grantham ให้ความเห็นว่า เป็นเพียง Bear Market Rally หรือการฟื้นตัวระยะสั้นของตลาดในช่วงที่ภาพใหญ่กำลังเป็นขาลงเท่านั้น หลังการลดลงอย่างรวดเร็วในครั้งแรกช่วงเกิดการระบาดของ Covid-19 จากนั้นเศรษฐกิจจะเริ่มเสื่อมลงอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายกว่าการที่ตลาดนั้นเป็นขาลงให้เห็นชัดเจน โดยเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเกินไป รวมถึงความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการใช้นโยบายเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ซึ่งแนวโน้มของตลาดลักษณะนี้ เป็นเหมือนระยะแรกก่อนเกิดฟองสบู่แตก กล่าวคือ ตลาดจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก จากนั้นจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา และสุดท้ายปัจจัยพื้นฐานก็ได้พังทลายลง จนกระทั่งตลาดอาจร่วงไปสู่จุดต่ำสุดในที่สุด

การคาดการณ์นี้มาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่รุมล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศได้กำหนดขึ้นมา สอดคล้องกับรศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้พูดถึงสัญญาณเตือนฟองสบู่แตกเอาไว้เมื่อปลายปี 2021 ทำให้เรื่องนี้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ฟองสบู่แตก

นักลงทุนควรรับมืออย่างไร?

เคยมีคนกล่าวว่า แท้จริงแล้วการระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา นั้นถือเป็นครูที่ดีมากในการรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งตัวบุคคล บริษัท หรือแม้แต่ประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ มีเงินสำรองฉุกเฉินระยะยาว พร้อมทั้งปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันเหตุการณ์ ที่สำคัญต้องศึกษาและติดตามข่าวสารอยู่ตลอด หรือการทยอยลงทุนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เนื่องจากเป็นเหมือนการสะสมเงินสดไว้ก่อน เพื่อรอจังหวะที่ตลาดจะฟื้นตัวอย่างแท้จริงได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงความคิดเห็นและการคาดการณ์จากปัจจัยต่าง ๆ เพียงเท่านั้น เรายังต้องมองมุมอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ท้ายที่สุดแล้วความรู้และประสบการณ์ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีที่สุด


Source: ทีมงาน Traderbobo

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่สาระน่ารู้

อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่Review Broker

Social Share
Facebook
Twitter