ลิเทียม (Lithium) หรือหลายคนเรียกว่า The New White Gold หัวใจสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต ทำให้ราคาพุ่งขึ้นมากว่า 10 เท่า!
สืบเนื่องมาจากราคาของแร่ลิเทียม (Lithium) เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า จากเมื่อต้นปี 2021 ซึ่งลิเทียมเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แน่นอนว่า การที่ราคาลิเทียมเพิ่มสูงขึ้นมากขนาดนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง และสุดท้ายอาจหนีไม่พ้นการที่ต้องเพิ่มราคาขาย แต่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้น ในแต่ละบริษัทจำเป็นต้องงัดโปรโมชั่นออกมาเพื่อดึงดูดลูกค้าไว้อย่างแน่นอน แต่หากมองในมุมมองของนักลงทุน หรือนี่จะเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนในแร่ลิเทียม
ทำความรู้จัก ‘ลิเทียม’ หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า
ลิเทียมจัดเป็นโลหะที่มีความอ่อนนุ่มและน้ำหนักเบาที่สุดในตารางธาตุ โดยลิเทียมเป็นโลหะในไม่กี่ชนิดที่สามารถรับและปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง ถูกใช้ในยารักษาโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว รวมทั้งในสิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่เซรามิกไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์ จนกระทั่งปรากฏเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับแบตเตอรี่ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า
โดยแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า ถูกเรียกว่า ลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า 90% ของการขุดลิเทียมจะถูกนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และอาจทำให้เกิด Demand Shock ในอนาคต
‘ลิเทียม’ กำลังจะขาดแคลน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า รถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจำเป็นต้องใช้ลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่มากกว่า Iphone 13 Pro Max ถึง 1,500 เท่า และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นำโดย Tesla มีแผนที่จะเพิ่มการผลิต 2 ล้านคัน และ BYD บริษัทที่กำลังจะครองตลาด EV แทน Tesla ก็ได้เพิ่มกำลังการผลิตอีก 1.2 ล้านคันเช่นกัน จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ยังไม่รวมรถระบบไฮบริดที่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์จากบริษัทเล็ก ๆ อีกมากมาย
จากกราฟจะเห็นได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มโตขึ้นถึง 50% นับตั้งแต่ปี 2021 และในปีหน้านักวิเคราะห์ก็ได้คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมนี้จะโตขึ้นอีกเท่าตัว จากนโยบายสนับสนุนของทางภาครัฐ และเทรนด์พลังงานสะอาดที่มนุษย์ให้ความสนใจกันมากยิ่งขึ้น หากดูในภาพรวมแบบนี้อาจสรุปได้ว่า อุปสงค์ของแร่ลิเทียมนั้นต้องสูงขึ้นมากในอนาคต แต่หากดูจากข้อมูลที่ลึกลงไปจะเห็นว่า อุปทานของแร่ลิเทียมกลับไม่สูงขึ้นตามไปด้วย จนอาจเกิดการขาดแคลนได้ในอนาคต เนื่องจากกว่าจะได้ลิเทียมมาเป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างแบตเตอรี่นั้นมีขั้นตอนจำนวนมาก และถึงแม้ลิเทียมจะเป็นแร่ที่หาเจอได้ง่าย แต่อาจมีความเข้มข้นไม่มากพอ ดังนั้น จึงมีไม่กี่ประเทศที่มีพร้อมทั้งวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิต ด้วยสาเหตุนี้เจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจึงทำการกว้านซื้อลิเทียมแข่งกัน จนผลักดันให้ราคาลิเทียมพุ่งแบบฉุดไม่อยู่
ลิเทียมราคาสูงขึ้น กลุ่มใดเสียผลประโยชน์ ?
กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ได้กำไรน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มได้เห็นการผูกขาดกับบริษัทต้นน้ำที่มีการผลิตลิเทียมมากยิ่งขึ้น เช่น BYD ได้ลงทุนในบริษัทฝั่งแอฟริกา รวมถึงการยื่นสร้างโรงงานเพื่อผลิตลิเทียมเอง ซึ่ง Tesla กำลังดำเนินการอยู่
แนวโน้มการลงทุน
ในด้านของอุปสงค์หรือความต้องการในระยะยาว อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง ถึงแม้ต้นทุนที่เข้ามาในตอนแรกจะค่อนข้างสูง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 40 ล้านคัน หากเฉลี่ยเป็นการเติบโตต่อปีจะอยู่ที่ปีละไม่ต่ำกว่า 25% แต่การที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ในจำนวนนี้ จำเป็นต้องมีแร่ลิเทียมมากกว่าเดิม 5-6 เท่า ล่าสุด Elon Musk ได้ออกมาสนับสนุนให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในบริษัทต้นน้ำของแร่ลิเทียม บ่งชี้ถึง ‘ลิเทียมยังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการสูงในอนาคต’
อีกทั้ง การสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับพลังงานสะอาดของทางภาครัฐในแต่ละประเทศที่ได้กล่าวเกริ่นไปข้างต้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ยืนยันว่า เทรนด์นี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน ซึ่งพลังงานสะอาดเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาแบตเตอรี่เพื่อเก็บรักษา
นอกจากนี้ หุ้นเหมืองลิเทียมอย่าง AKE IGO MIN และ PLS ในระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ราคาของหุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ซึ่งถ้าหาก P/E ยังเท่าเดิม แต่ราคาสูงขึ้นแบบนี้ในปีหน้า นักลงทุนมองว่า ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้าซื้อไว้ในระยะยาว แต่ต้องศึกษาข้อมูลบริษัทให้ดีก่อนเข้าลงทุน เนื่องจากมีบริษัทเหมืองลิเทียมเล็ก ๆ จำนวนมากที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตให้เปิดอย่างแท้จริง จึงแนะนำให้ลงทุนในบริษัทที่ค่อนข้างมีพื้นฐานและเป็นที่รู้จักระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตอนนี้แร่ลิเทียมจะเป็นสิ่งที่ต้องการมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แต่มีแร่อีกหนึ่งตัวที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับลิเทียมและหาง่ายกว่า คือ โซเดียม แต่ในด้านการผลิตยังไม่มี Supply Chain รองรับ จึงไม่นิยมนำมาใช้ แต่ในอนาคตหากมีการคิดค้นขึ้นมาได้ เราคงต้องปรับแผนการลงทุนใหม่
Source: ทีมงาน Traderbobo
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker