ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดร่วงลงกว่า 600 จุดในวันจันทร์ (9 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ดิ่งหลุดจากระดับ 4,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเป็นวงกว้าง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
Dow Jones -1.99%
S&P500 -3.20%
Nasdaq -4.29%
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยหากเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบ ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูง, ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดทางการจีนเปิดเผยว่า ยอดส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 และชะลอตัวลงอย่างมากจากเดือน มี.ค. ที่มีการขยายตัว 14.7%
หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 8.3% หลังจากราคาน้ำมัน WTI ทรุดตัวลงกว่า 6% เมื่อคืนนี้ โดยหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ร่วงลง 9.74% หุ้นเอ็กซอน, โมบิล ดิ่งลง 7.92%, หุ้นเชฟรอน ร่วงลง 6.76% เเละหุ้นฮัลลิเบอร์ตัน ทรุดลง 10.73%
ดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง 4.62% โดยหุ้นโจนส์ แลง ลาซาลล์ ร่วงลง 2.88%, หุ้นอเมริกัน เรียลตี้ อินเวสเตอร์ส ทรุดตัวลง 18.51% เเละหุ้นอาร์มาดา ฮอฟเฟอร์ พร็อพเพอร์ตีส์ ร่วงลง 4.72%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ดิ่งลงอย่างหนักหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 โดยหุ้นแอปเปิล ร่วงลง 3.32%, หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 2.8%, หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ดิ่งลง 3.71%, หุ้นทวิตเตอร์ ร่วงลง 3.69% เเละหุ้นเน็ตฟลิกซ์ ดิ่งลง 4.35%
นักลงทุนจับตาสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในวันพุธนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือน มิ.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือน เม.ย. จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐฯ (NFIB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดร่วงลงในวันจันทร์ (9 พ.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน นำโดยหุ้นกลุ่มเดินทางและสันทนาการ รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นได้กระตุ้นแรงเทขายหุ้น
Stoxx Europe 600 -2.90%
CAC-40 -2.75%
DAX -2.15%
FTSE 100 -2.32%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ร่วง 5% สู่ระดับต่ำสุดของเดือน พ.ย. 2563 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และยุโรปพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปีจากการคาดว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ร่วงลง 4.4% เนื่องจากสัญญาสินแร่เหล็กของจีนดิ่งลงถึง 7% จากความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ในจีน หลังการเปิดเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า การส่งออกในเดือนเม.ย.ชะลอการขยายตัว โดยเพิ่มขึ้นเป็นเลขหลักเดียว
ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงกว่า 5% แล้วในเดือน พ.ค. เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากการที่จีนล็อกดาวน์เมืองต่าง ๆ เพื่อควบคุมโควิด, การคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุก และสงครามในยูเครน และดัชนีดิ่งลง 15.6% แล้วหลังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน ม.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนร่วงลงในเดือน พ.ค. สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 เนื่องจากสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
บริษัทยุโรปเกือบ 60% รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว โดย 72% มีผลกำไรสูงเกินคาด ในส่วนของหุ้นรายตัวร่วงลง รวมถึงหุ้นโพสต์เอ็นแอลของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดิ่งลง 12.9% หลังปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการทั้งปี
บรรดานักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้