สืบเนื่องมาจากมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดอำนาจสูงสุดต้องตกไปอยู่ที่สหรัฐฯ หรือเพียงเพราะสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ ‘สกุลเงินดอลลาร์’ ที่เป็นสกุลเงินหลักในระบบการเงิน และเป็นเงินทุนสำรองของโลก จึงเกิดการความร่วมมือที่เรียกว่า ‘BRICS’ ซึ่งย่อมาจากตัวอักษรขึ้นต้นของ 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือขั้วอำนาจใหม่
ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของ “BRICS”
ย้อนกลับไปในเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาติตะวันตกหรือขั้วอำนาจเก่า เกิดการคว่ำบาตรรัสเซีย เริ่มด้วยการแบนการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเกือบทุกประเภท อีกทั้งยังมีการยึดทรัพย์ของธนาคาร ทำให้รัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับประเทศอื่นได้ แต่ผลที่ออกมากลับผิดคาด เนื่องจากรัสเซียสามารถพลิกเกม และทำให้ค่าเงินรูเบิลกลับมาแข็งค่ามากที่สุดในโลก แตะระดับสูงสุดรอบ 7 ปีได้ จากก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ ออกตัวว่า จะทำให้รูเบิลมีค่าเหลือ 0 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การคว่ำบาตรในครั้งนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัสเซียหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง
ในทางกลับกัน รัสเซียเองก็ได้ผลประโยชน์จากการตึงตัวของก๊าซและน้ำมัน ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากรัสเซียออกมาตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออก โดยมีเงื่อนไขในการซื้อขาย คือ ต้องจ่ายเป็นสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น ซึ่งประเทศที่ยอมรับข้อตกลง จะได้ซื้อก๊าซและน้ำมันที่ราคาถูกกว่าตลาด ซึ่งสองประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ นั่นก็คือ อินเดีย และจีน
หากมองในภาพรวมจะเห็นว่า หลังจากการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ รัสเซียยังสามารถยืนอยู่ได้ อีกทั้งยังมีคู่ค้าที่แข็งแรง และเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสวนทางกับประเทศทางฝั่งชาติตะวันตกที่เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุเริ่มต้นจากราคาก๊าซและน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยได้เลยทีเดียว
ความเเข็งแกร่งของรัสเซียยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะก่อนที่รัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครน ได้มีการทยอยซื้อทองคำเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารกลางรัสเซียกลายเป็นธนาคารกลางที่ถือครองทองคำเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และมีเหมืองทองคำขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งแผนการนี้มีการซุ่มทำมาหลายปี โดยรัสเซียมีความคิดว่า จะเชื่อมโยงเงินรูเบิลกับทองคำ (Gold Standard) เป็นการเสริมความน่าเชือถือให้กับค่าเงินรูเบิล เพราะถึงแม้รัสเซียจะเป็นประเทศที่ใหญ่ และมีทรัพยากรสำคัญมากมาย แต่ความน่าเชื่อถือบนเวทีนานาชาติค่อนข้างน้อย ดังนั้น ทองคำคือสิ่งที่จะช่วยเสริมอำนาจที่ขาดหายไป
เมื่อขั้วอำนาจเก่าเริ่มอ่อนแอลง “BRICS” จึงผงาด
ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง แต่รัสเซียกลับเริ่มแข็งแกร่งขึ้น และอยู่ได้ด้วยตัวเอง ล่าสุดรัสเซียและจีนได้ประกาศข่าวใหญ่ว่า ‘BRICS’ กำลังพัฒนาระบบเงินทุนสำรองของโลกใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินของชาติตะวันตก ขณะเดียวกัน สมาชิกแต่ละประเทศได้มีการเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน โดยเฉพาะเงินหยวน
อย่างที่ทราบกันว่า จีนเองก็ได้มีการเตรียมตัวเพื่อลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหยวน หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ตัวอย่างสำคัญที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ CIPS ซึ่งเป็นช่องทางการชำระเงินต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญของระบบ SWIFT จากสหรัฐฯ โดยจีนตั้งใจคิดค้นขึ้นมาเพื่อลดอำนาจของสหรัฐฯ
จะเห็นได้ว่า ขั้วอำนาจใหม่กำลังก่อตัวขึ้น นำโดยจีนและรัสเซีย ซึ่งจีนเองก็ถือว่า ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และทางรัสเซียก็มีทรัพยากรพลังงานเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หากรวมกับบราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า อำนาจของสหรัฐฯ อาจสั่นคลอนลง
สรุป 5 ประเทศใหญ่ “BRICS”
อย่างไรก็ตาม แม้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังควบคุมการค้าโลกอยู่ แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นของ BRICS รวมกับความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ ในอนาคต ก็เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการโค่นดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งการรวมประเทศเข้าด้วยกันเป็นสหภาพ แล้วสร้างสกุลเงินหลักขึ้นมา เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป นั่นก็คือ เงินยูโร ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ได้เข้ามาเป็นสกุลเงินหลักในธนาคารกลางทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย โดยตอนนั้นกลุ่มประเทศยุโรปแข็งแกร่งมาก ไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน และฝรั่งเศส แต่ ณ ตอนนี้ BRICS กำลังจะเดินตามรอยไปอย่างก้าวกระโดด
อ่านบทความเพิ่มเติม: สาระน่ารู้
วิเคราะห์ราคาทองคำรายวัน: วิเคราะห์ราคาทองคำ และ Facebook Page