Demographic หรือธีมการลงทุนแบบภูมิประชากรศาสตร์
ปัจจุบันมีธีมการลงทุนใหม่ ๆ ให้เหล่านักลงทุนได้เลือกศึกษามากมาย อย่างเช่น ธีม Silver Lining เป็นการลงทุนกับกลุ่มผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของธีมการลงทุนที่เรากำลังจะกล่าวถึงเพียงเท่านั้น โดยภาพรวมของธีมการลงทุนเหล่านี้เรียกว่า Demographic หรือ การลงทุนแบบภูมิประชากรศาสตร์ ที่ต่างประเทศกำลังให้ความสนใจอยู่ ณ ขณะนี้
“จากบทวิเคราะห์ของ Bank of America ได้ชี้ว่า เรื่องภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) นั้นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และยังมีความสัมพันธ์กับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งจะเห็นว่า โลกของเรามีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น”
ความขัดแย้งที่พูดถึงนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่รวดเร็วจากปัจจัยหลายอย่างที่โลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สงคราม หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศต้องหันกลับมาคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น หลายประเทศมีการเพิ่มการผลิต หรือพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในประเทศตัวเอง ส่งผลไปถึงการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและธีมการลงทุนใหม่ ๆ จึงก่อกำเนิดขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การที่โลกของเราเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการที่คนเจนใหม่ไม่นิยมมีลูกด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานลดลง และวัยทำงานที่เหลืออยู่จะย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน อีกด้านหนึ่งสังคมผู้สูงอายุบีบให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย เช่น ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ในประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ
Demographic คืออะไร?
Demographic คือ การวิเคราะห์ทางประชากรศาสตร์ โดยการศึกษาประชากรตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เชื้อชาติ และเพศ รวมไปถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมที่แสดงเป็นสถิติ การจ้างงาน การศึกษา รายได้ อัตราการแต่งงาน อัตราการเกิดและการเสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งรัฐบาล บริษัท หรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะศึกษาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อพัฒนานโยบาย และการวิจัยตลาดเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ขาย RV ระดับ Hi-End อาจต้องการเข้าถึงผู้คนที่ใกล้ถึงวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณ และเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของตนเอง
โดยข้อมูลประชากรมีประโยชน์มากในการดำเนินธุรกิจเพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการทำการตลาดกับผู้บริโภค และวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของธีมการลงทุนต่อไป
3 ข้อมูลด้าน Demographic ที่นำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน
1. การเพิ่มจำนวนประชากรทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และลดลงอย่างรวดเร็ว
Bank of America กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว มาจากปัจจัยค่าเลี้ยงดูบุตรในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาก และการแต่งงานที่ช้าลง ซึ่งยกตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ โดยในปี 2020 อัตราการเสียชีวิตของประชากรเกาหลีใต้นั้นมากกว่าอัตราการเกิดใหม่ของเด็ก ที่สำคัญในปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มเผชิญกับปัญหาเหล่านี้กันมากขึ้น เช่น บราซิล อินเดีย และแอฟริกา
สำหรับโอกาสในการลงทุนจะเน้นไปที่กลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในยุคที่มีอัตราการเกิดน้อยลง เช่น เทคโนโลยีการแพทย์อย่างเด็กหลอดแก้ว ที่เป็นตัวช่วยของผู้มีบุตรยาก หรือกลุ่มเทคโนโลยีที่สนับสนุนการเลี้ยงเด็กในช่วงที่พ่อแม่ไปทำงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ ยังลดค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างพี่เลี้ยงอีกด้วย
2. วัยทำงานในเอเชียเริ่มลดลง
ถึงแม้ในปัจจุบันจำนวนประชากรในเอเชียจะเริ่มเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในเอเชีย รวมถึงการที่หลายประเทศมีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้สัดส่วนประชากรวัยทำงานลดลง ที่สำคัญประเทศที่เป็นเหมือนโรงงานของโลกอย่างจีนกลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำที่สุด จากการคาดการณ์ของ Bank of America ในอนาคตอินเดียอาจมีจำนวนประชากรมากกว่าจีน
สำหรับโอกาสในการลงทุนจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้แทนคน แต่สำหรับเรื่องนี้อาจเกิดได้ทั้งผลดี และผลเสีย เนื่องจากหากอุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโตมากขึ้นจะทำให้โรงงานใช้แรงงานน้อยลง และอาจส่งผลไปถึงอัตราการว่างงานในประเทศต่าง ๆ ที่มีเกณฑ์จะเพิ่มขึ้น
3. การย้ายถิ่นฐานของประชากร
โดยปัจจัยนี้อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยข้อมูลจาก Bank of America พบว่า ในปี 2020 มีประชากรจำนวนมากถึง 281 ล้านคน ต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมของตัวเอง เพิ่มขึ้นจาก 174 ล้านคน ในปี 1995 ซึ่งข้อดี คือ การอพยพย้ายถิ่นฐานได้ช่วยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่ให้ประสบปัญหาที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุ และอุดช่องว่างเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยยุโรปมีจำนวนการอพยพจากถิ่นฐานมากที่สุด
สำหรับโอกาสในการลงทุนจะเน้นไปที่บริการที่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือการจ้างงาน เนื่องจากเมื่อมีการอพยพจากถิ่นฐานตนเองไปที่อื่น ย่อมต้องมีการติดต่อหางานผ่านตัวกลางต่าง ๆ เช่น หุ้น HSON
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธีมการลงทุนนี้เท่านั้น ยังเหลือปัจจัยอีกมากที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่เราได้รู้จักการวิเคราะห์ประชากรศาสตร์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เราสามารถลงทุนได้อย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์ไม่น้อย
Source: Plus.Thairath
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้
อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่: Review Broker