Sell in May วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ปี 2022

Table of Contents
sell in may

ในตลาดลงทุนมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมาย และถูกเรียกไปในชื่อต่าง ๆ สำหรับในเดือน พ.ค. มักเป็นเดือนที่นักลงทุนไม่ค่อยเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนมากนัก และเป็นเดือนที่หุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลง หลายคนจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Sell in May” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่น่าพอใจนักสำหรับนักลงทุน อีกทั้งยังอาจทำให้ตลาดกลายเป็นตลาดหมีไปในระยะยาว

Sell in May เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

หากดูจากสถิติของดัชนี S&P500 ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นในเดือน พ.ค. ไม่ได้แย่ไปจากเดือนอื่นมากนัก โดยในช่วง 20 ปี ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนเป็นลบเพียง 6 ปี สวนทางกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากหากดูสถิติในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนในเดือน พ.ค. ติดลบจำนวน 6 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเกินครึ่ง อาจกล่าวได้ว่า Sell in May นั้น ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่าต่างประเทศ

ความรุนแรงของปรากฏการณ์นี้ มาจากปัจจัยเสริมในแต่ละปี สำหรับปี 2022 นี้ มีตัวแปรที่เป็นปัจจัยลบต่อตลาดลงทุนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ, Covid-19, สงครามในยูเครน และการคว่ำบาตรรัสเซียจากยุโรป แต่ที่น่ากังวลและนักลงทุนให้น้ำหนักมากที่สุด คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกมีการฟื้นตัวเร็วจากการระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการอัดฉีดนโยบายการเงินของ FED หรือ Quantitative Easing (QE) เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่ ณ ตอนนี้ปริมาณเม็ดเงินกำลังจะถูกดึงออกจากตลาดลงทุน ตามประกาศของ FED ที่ว่า “จะลด QE ลง 47,500 ล้านเหรียญดอลลาร์ต่อเดือน และจะมีการเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า” ประเด็นนี้จึงอาจเป็นประเด็นหลักที่กดดันตลาดลงทุนในปีนี้

วิธีการรับมือกับ Sell in May

หากมันเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าจะกระทบเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ควรมองหาการลงทุนที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เช่น กลุ่มธุรกิจการเปิดเศรษฐกิจ, เมือง, การเดินทาง และการท่องเที่ยว (Pre-Opening) หรือกลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการที่ชัดเจน ส่วนกลุ่มที่ควรระวังมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ กลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากสภาพคล่องที่ลดลง อาจทำให้การให้มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีลดลงตามไปด้วย ซึ่งสามารถเห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีในช่วงเดือนที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนล้วนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากเป็นนักลงทุนระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี ความผันผวนที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ อาจไม่ได้มีผลกระทบต่อหุ้นมากมาย อีกทั้ง ปรากฎการณ์ Sell in May เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น สุดท้ายแล้วตลาดมักจะฟื้นตัวกลับมาได้ในที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับพอร์ตไปตามสัญญาณต่าง ๆ ที่เข้ามาในตลาดเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับพอร์ตของตนเอง

Sourceทีมงาน Traderbobo

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: สาระน่ารู้

อ่านรีวิวโบรกเกอร์เพิ่มเติมได้ที่Review Broker

Social Share
Facebook
Twitter