Market Watch จับตาโลกวันนี้ : เมื่อวันศุกร์ (1 ก.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดดีดตัวขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปปิดทรงตัว โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มปลอดภัยได้บดบังแรงขายหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดดีดตัวขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ (1 ก.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อหุ้นในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลังก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐฯ
Dow Jones +1.05%
S&P500 +1.06%
Nasdaq +0.90%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์
แต่หุ้นบริษัทผลิตชิปยังคงร่วงลงอย่างหนัก หลังจากบริษัท ไมครอน เทคโนโลยี เตือนเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ชะลอตัว โดยหุ้นไมครอนร่วงลง 2.9% และดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดฟิลาเดลเฟียร่วงลง 3.8%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน, รายงานการจ้างงานเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในเดือนก.ค. นี้
นักวิเคราะห์คาดว่า แนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลง
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์นั้น เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563 และต่ำกว่าระดับ 57.0 ในเดือนพ.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 52.4
ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ท่ามกลางการลดลงของอุปสงค์จากลูกค้าต่างประเทศ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2563 แม้ว่าการจ้างงานปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐฯ
ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ดิ่งลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 56.1 ในเดือนพ.ค.
ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดัชนียังอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัว
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดทรงตัวในวันศุกร์ (1 ก.ค.) โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มปลอดภัยได้บดบังแรงขายหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และกลุ่มที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่นักลงทุนเตรียมพร้อมสำหรับการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ในเดือนก.ค. นี้ โดยข้อมูลที่เปิดเผยในวันศุกร์บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของยูโรโซนเพิ่มขึ้นเกินคาด และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือนมิ.ย. ซึ่งสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB เนื่องจากอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุด
Stoxx Europe 600 -0.02%
CAC-40 +0.14%
DAX +0.23%
FTSE 100 -0.01%
ดัชนี STOXX 600 ร่วงลง 1.4% ในสัปดาห์นี้ และดิ่งลงมากกว่า 16% แล้วในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนนั้น ทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ร่วงลง 2.9-5.4% หลังบริษัทไมครอน เทคโนโลยีซึ่งเป็นบริษัทชิปหน่วยความจำของสหรัฐฯ เปิดเผยแนวโน้มธุรกิจที่อ่อนแอกว่าคาดเมื่อวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.)
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 2.0%, กลุ่มเหมืองแร่ร่วง 2.5% รวมถึงหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซร่วงลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แรงซื้อหนุนหุ้นกลุ่มปลอดภัยปรับตัวขึ้น เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค, สินค้าอุปโภคบริโภค, เทเลคอม และเฮลท์แคร์